วันไหว้พระจันทร์
วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ถือเป็น 中秋'วันจงชิว' (Zhong Qiu) หรือ 'วันไหว้พระจันทร์' ซึ่งเป็นประเพณีที่ชาวจีนถือปฏิบัติสืบต่อกันมานับพันปี
ใน 'วันจงชิว' นี้
ชาวจีนจะให้ความสำคัญกับเรื่องการอยู่พร้อมหน้ากันของสมาชิกในครอบครัว
ร่วมชมจันทร์เพ็ญที่ทอแสงนวลและอธิษฐานขอให้มีความกลมเกลียวและผาสุกในครอบครัว
วันไหว้พระจันทร์มีความเกี่ยวข้องกับปฏิทินจันทรคติอย่างแนบแน่น
ตามปฏิทินจันทรคติของจีนนั้น เดือน 8 เป็นช่วงกลางของฤดูใบไม้ร่วง ส่วนวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ก็เป็นช่วงกลางของเดือน 8 เช่นกัน ฉะนั้น วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8
จึงถูกเรียกว่า 'จงชิว' (Zhong Qiu) แปลว่า 'กลางฤดูใบไม้ร่วง'
มีความเชื่อกันโดยทั่วไปว่า ในวันดังกล่าว
เราจะสามารถมองเห็นพระจันทร์ได้เต็มดวงใหญ่ที่สุดกลมที่สุดและสว่างที่สุด
ด้วยเหตุนี้จึงมีกิจกรรมต่างๆ มากมายในช่วงวันไหว้พระจันทร์ เช่น
การเซ่นไหว้พระจันทร์ การคำนับพระจันทร์และการชมพระจันทร์ เป็นต้น
ความเป็นมาที่เก่าแก่ที่สุดของวันไหว้พระจันทร์นั้นมาจากพิธีเซ่นไหว้พระจันทร์ในสมัยโบราณของจีน
หนังสือโบราณบันทึกไว้ว่า คำว่า 'จงชิว' (Zhong Qiu) นี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน สมัยนั้นมีพระราชพิธีเซ่นไหว้พระจันทร์ในฤดูใบไม้ร่วงโดยพระเจ้าแผ่นดิน
ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า ในทัศนะของคนโบราณนั้น
หากพระจันทร์ไม่มอบน้ำค้างให้แก่โลก
และหากไม่มีจันทร์เสี้ยวและจันทร์เพ็ญมาช่วยคำนวณเวลาทำนาแล้ว
ก็ไม่มีทางที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อุดมสมบูรณ์ 月坛 'เยว่ถาน'
(Yue Tan) หรือ 'หอบวงสรวงพระจันทร์'
ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงของกรุงปักกิ่งก็เป็นสถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีเซ่นไหว้พระจันทร์ของกษัตริย์จีนโบราณ
สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว ก็มีการสร้าง 'สถานเซ่นไหว้พระจันร์' 'เก๋งไหว้พระจันทร์'
และ 'ศาลาชมจันทร์' หลายต่อหลายแห่งเช่นกัน
ในส่วนของนิทานปรัมปราที่เกี่ยวข้องกับพระจันทร์นั้นก็มีมากมาย
เช่นมีอยู่เรื่องหนึ่งเล่ากันว่า พระเจ้าถังเสวียนจงของราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) ทรงปรีชาสามารถและชำนาญในศาสตร์ต่างๆ มีอยู่ปีหนึ่งในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ขณะที่พระองค์กำลังทอดพระเนตรไปยังจันทร์เพ็ญนั้นก็มีพระราชประสงค์ขึ้นมาในบัดดลว่า
อยากจะไปท่องพระจันทร์ ในที่สุดด้วยอิทธิฤทธิ์ของเซียน ก็บันดาลให้พระองค์เหาะไปถึงพระจันทร์
และทรงเห็นวิมานหลังหนึ่งชื่อว่า 'วิมานกว่างหานกง' ซึ่งมีนางฟ้ากลุ่มหนึ่งกำลังระบำรำฟ้อนอย่างงดงามไปตามจังหวะดนตรีอันไพเราะจับใจ
ถึงกับทำให้พระองค์ทรงเคลิบเคลิ้มไปกับความงามนั้น ต่อมาเมื่อกลับถึงแดนมนุษย์แล้ว
พระองค์ก็นำเสียงดนตรีที่เคยได้ยินมาจากวิมานพระจันทร์นิพนธ์แต่งเป็นบทเพลงชื่อว่า
'เสื้อสายรุ้ง' บทเพลงนี้ไพเราะเพราะพริ้งและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ท่ามกลางกระบวนการวิวัฒนาการนั้น
วันไหว้พระจันทร์ก็มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา คือได้รับการนิยามว่าเป็น 'วันแห่งการอยู่พร้อมหน้าของครอบครัว'
เพราะชาวจีนเห็นว่า
วงกลมของพระจันทร์เปรียบเสมือนการครบถ้วนบริบูรณ์ของสมาชิกครอบครัวนั่นเอง
ฉะนั้น
ชาวจีนจึงนิยมอยู่กันพร้อมหน้าในวันไหว้พระจันทร์ รับประทานอาหารร่วมกัน
รอจนถึงเวลาที่จันทร์เพ็ญลอยกระจ่างฟ้า ก็จะกางโต๊ะในลานกลางแจ้ง จัดผลไม้ขนมขบเคี้ยวและอาหารอื่นๆ
หลากหลายไว้บนโต๊ะ แล้วจึงเซ่นไหว้พระจันทร์ด้วยกัน
ขอให้มีความสุขและความบริบูรณ์กันถ้วนหน้า
月饼'เยว่ปิ่ง' (Yue Bing) หรือ 'ขนมไหว้พระจันทร์' (Moon Cake) เป็นของกินที่ขาดเสียไม่ได้ในเทศกาลวันไหว้พระจันทร์
มีการจำหน่ายกันล่วงหน้าก่อนวันไหว้พระจันทร์ประมาณ 1 เดือน แต่หลังจากวันไหว้พระจันทร์ผ่านไปแล้วก็จะไม่มีผู้ซื้ออีก
ขนมไหว้พระจันทร์จะทำเป็นรูปกลม จะสอดไส้ชนิดต่างๆ เช่น งา อบเชย
ถั่วลิสงและถั่วบด เป็นต้น ที่เมืองไทยยังมีขนมไหว้พระจันทร์ไส้ทุเรียน
เนื่องด้วยความสำคัญพิเศษของวันไหว้พระจันทร์
ทำให้ผู้ที่พลัดถิ่นจากบ้านเกิดมีความคิดถึงบ้านอย่างสุดซึ้งในวันไหว้พระจันทร์
กาพย์กลอนที่เกี่ยวข้องกับพระจันทร์ก็มีมากมายเหลือคณาเช่นกัน
ล้วนถ่ายทอดให้เห็นถึงหัวอกของคนคิดถึงบ้านที่ฝากไว้กับพระจันทร์ อย่างเช่น 举头望明月,低头思故乡。'เงยหน้ามองจันทร์แจ่มฟ้าผ่องอำไพ
ก้มหน้าไซร้คิดถึงบ้านเกิดตน' โดยหลี่ไป๋ 李白กวีสมัยราชวงศ์ถัง
และ 'จันทร์เพ็ญลอยเด่นเหนือมหานที
แม้นยามนี้ไกลกันสุดฝันหา ถึงจะอยู่คนละฝั่งฟากฟ้า ยังหรรษาชมเดือนดวงเดียวกัน'
เป็นต้น
ล้วนเป็นกลอนที่เสมือนหนึ่งเสียงจากใจของลูกหลานจีนที่อยู่ไกลในต่างแดนทั่วโลกในคืนวันไหว้พระจันทร์
เมื่อปี 2549 'วันไหว้พระจันทร์' ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกวัฒนธรรมวิถีชนชิ้นเยี่ยมของจีน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น